วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ครอบครัว อบอุ่น ด้วยรัก


น้องสาวคนหนึ่ง เกิดมาในครอบครัวที่พ่อจากไปตั้งแต่แม่ยังสาว และน้องๆ ของเธอยังเยาว์วัย

เป็นการจากไปอย่างกะทันหัน มิได้มีการเตรียมการ

ไม่ว่าจะเป็นในด้านของแม่ซึ่งเป็นภริยา ไม่ว่าจะเป็นในด้านของลูกๆ ซึ่งล้วนได้รับความอบอุ่นจากพ่อเป็นอย่างดี

ในเบื้องแรก ทุกคนจึงเกิดความเคว้งคว้างไม่แน่ใจ

แต่ภายในเวลาอันรวดเร็ว แม่ซึ่งเป็นคนทำงานหนักมาโดยตลอด ก็ปรับตัวได้ เป็นการปรับตัวโดยการดำรงสถานะ ที่ควบทั้งความเป็นแม่ และความเป็นพ่อไปด้วยในขณะเดียวกัน

น่ายินดีที่ลูกทุกคนสมองดี ขยันขันแข็งและเรียนเก่ง

ในฐานะลูกสาวคนโต เธอกับแม่จึงมีความเข้าใจกันอย่างเป็นเอกภาพ เข้าใจในความเสียสละของแม่ เข้าใจว่าตนเองต้องเสียสละเพื่อน้องอีกหลายคน

เข้าใจและตระหนักว่า ตนเองจะต้องเป็นเหมือนแม่คนที่ 2 ของน้องๆ

ความเข้าใจนี้ในเบื้องต้น เป็นเรื่องดี แต่ในท่ามกลางการเติบใหญ่ของเธอ และการร่วงโรยลงเป็นลำดับของแม่ ก็เกิดความแปรเปลี่ยนในทางความคิด กระทั่งกลายเป็นความขัดแย้ง

เป็นความขัดแย้งในลักษณะที่ช่วงชิงการนำภายในบ้าน

น่ายินดีที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นความขัดแย้งในหมู่พวกเดียวกัน เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีลักษณะปรปักษ์ เป็นความขัดแย้งที่สามารถประนีประนอมกันได้

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งระหว่างน้องสาวคนนั้น ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตกับแม่เกิดขึ้น เพื่อนคนหนึ่งมักเสนอแนะให้เธอกลับไปง้อขอคืนดีกับแม่

คำพูดที่ติดปากก็คือ "โชคดีนะที่เธอยังมีแม่อยู่"

ที่พูดเช่นนี้ เพราะว่าเพื่อนคนนั้นเป็นกำพร้า แม่ของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว พ่อของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว

เพื่อนคนนั้น มีชีวิตอยู่อย่างแตกต่างไปจากน้องสาวคนนั้น เป็นอย่างมาก

มองจากพื้นฐานของเพื่อนคนนั้น การดำรงอยู่ของน้องสาวคนนั้น ย่อมอบอุ่นกว่า เพราะน้องสาวคนนั้นยังมีแม่อยู่

มีแม่อยู่อันเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทร

อย่างน้อยเมื่อประสบปัญหาในชีวิต ไม่ว่าปัญหาในเรื่องส่วนตัว ในเรื่องการทำงาน ก็ยังมีแม่อยู่ที่บ้าน

แม่ที่พร้อมจะเปิดใจรับฟังปัญหาของลูก

แม่ที่พร้อมจะอ้าแขนโอบกอดให้ความอบอุ่น แม่ที่พร้อมจะเอ่ยปากให้กำลังใจลูก ให้ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป

นี่ย่อมต่างไปจากคนที่เมื่อกลับบ้าน ไม่มีทั้งพ่อและแม่รออยู่

มีความว้าเหว่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อกลับไปถึงบ้าน แล้วไม่มีทั้งพ่อทั้งแม่รออยู่

รออยู่และคอยถามว่า "เหนื่อยไหมลูก" รออยู่และคอยถามว่า "กินข้าวมาแล้วหรือยังลูก" รออยู่และเฝ้ามองด้วยความห่วงหาอาทร

คนที่มีพ่อมีแม่รออยู่ ย่อมไม่เข้าใจในสิ่งที่ขาดหายไป กระทั่งมองเห็นว่าไร้ค่า

ต่อเมื่อไม่มีทั้งพ่อ ต่อเมื่อไม่มีทั้งแม่ รออยู่ที่บ้านอีกนั่นแหละ จึงจะตระหนักในสภาพที่ขาดหายไป

และก็จะเริ่มถวิลหา อาวรณ์

เช่นนี้เอง กวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ที่ว่า "อนิจจา น่าเสียดาย / ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง / ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง / มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์"

จึงทรงความหมาย

ความหมายในแง่ที่ว่า หากไม่เคยประสบกับความสูญเสีย ก็จะไม่รู้สึก นั่นก็คือ ไม่รู้สึกว่าในความสูญเสียนั้น เป็นเรื่องยิ่งใหญ่

เพราะในความสูญเสียนั้น คือ "น้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์"

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างน้องสาวคนนั้น กับเพื่อนคนนั้นของเธอ กล่าวได้ว่า น้องสาวคนนั้นอยู่ในฐานะที่สมบูรณ์มากยิ่งกว่า เพราะไม่เพียงแต่จะมีแม่คอยให้ความอบอุ่น คอยเช็ดน้ำตาให้เท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ เมื่อกลับถึงบ้านก็ยังมีแม่รออยู่

มือที่อ่อนโยนที่สุด ย่อมเป็นมือแห่งความรัก มือที่อบอุ่นที่สุด ย่อมเป็นมือแห่งความห่วงหาอาทร จากคนที่รักและห่วงหาอาทร

โลกนี้ไม่มืดอย่างแน่นอน หากยังมีคนที่รักเราอยู่โดยรอบ

โลกนี้มีความหวังแจ่มจรัสอย่างแน่นอน หากทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักในวงแคบ ภายในครอบครัว หรือความรักในวงกว้างต่อโลก และมนุษยชาติก็ตาม

ที่ใดมีรัก ที่นั่นย่อมสว่างไสว งดงามยิ่ง

บทความพ่อสอนลูก


1. การคบเพื่อน เพื่อนมีหลายประเภทมีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นการคบเพื่อนจึงต้องค่อยๆศึกษาและเรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกัน โดยเพื่อนที่ดีหรือเพื่อนแท้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือไม่เอาเปรียบคน ไม่เห็นแก่ตัว มีใจเมตตากรุณาโอบอ้อมอารี มีวาจาอ่อนหวานนิ่มนวล มีความขยันหมั่นเพียรและมานะอดทน ฯลฯ
2. การทำกรรมดี คือการประพฤติตัวดีมีนิสัยดี มีความขยันหมั่นเพียร มานะอดทน และรู้จักศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ ถ้าทำความดีทั้งหมดนี้ได้ก็จะมีความสุขความเจริญ มีคนนิยมรักใคร่และยกย่องสรรเสริญ
3. คนเราต้องมีความกตัญญูรู้คุณคน และมีความซื่อสัตย์สุจริตโดย ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่องานที่ทำและต่อเพื่อนฝูง
4. ต้องไม่เอาเปรียบคน ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตัวให้แก่ส่วนรวมได้
5. ไม่ควรอวดดีถือตัวหรือ เย่อหยิ่งจองหองดูถูกเหยียดหยามคนอื่น แต่ต้องรู้จักเจียมตัวไม่ทำตัวให้สูงเกินกว่าฐานะที่เป็นจริง
6. ควรรู้จักใช้คำพูดและรู้จักเลือกเวลาและสถานที่ๆควรพูด เพราะคำพูดที่ไม่ควรพูดถ้าเราไปพูดในเวลาที่ไม่ควรพูดหร์อในสถานที่ๆไม่ควรพูด จะเป็นผลเสียหายมากกว่าเป็นผลดี
7. ควรพูดแต่น้อย ให้ฟังคนอื่นมากกว่าพูดเอง และให้พูดแต่เรื่องที่เรารู้จริง เรื่องใดรู้ไม่จริงหรือเพียงแต่สงสัยก็อย่าพูด
8. ควรมีความสุภาพเรียบร้อย และอ่อนน้อมกับคนทั่วไป โดยไม่ต้องเลือกว่าเขาผู้นั้นจะ เป็นใครและต้องมีความเห็นใจหรือที่เราเรียกว่ามี จรรยามารยาทดีนั่นเอง
9. ควรทำตัวเป็นคนโง่ อย่าทำตัวเป็นคนฉลาด อย่าคุยโวอวดรู้อวดฉลาด อวดร่ำอวดรวย หรืออวดในความเก่งกาจแม้เราจะรู้จริงรวยจริง หรือเก่งจริงก็ตาม และต้องเป็นคนยอมแพ้คน เว้นแต่การยอมนั้นจะกระทบกระเทือนถึงเกียรติยศ และประโยชน์หรือผลได้เสียของเรา
10. ให้เป็นคนที่ทำอะไรทำจริง(คือพูดจริงทำจริง) และเป็นคนปากกับใจตรงกัน
11. ให้มีความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะ ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดต้องเป็นผู้คอยประสานและก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะเสมอ
12. ให้เป็นคนรักญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และหมู่คณะทั้งมีใจเมตตากรุณาโอบอ้อมอารี

บทความเรื่อง ครอบครัว


1. ข้อสำคัญของการเลือกคู่ คือ เราไม่ได้เลือกใครเพราะเขาสมบูรณ์แบบ แต่เพราะ
เขามีจุดดีหลัก ๆที่เราประทับใจ ส่วนจุดอ่อนด้อยนั้นเป็นส่วนปลีกย่อยที่เราสามารถ
ยอมรับได้อย่างไม่ยากเย็น

2. ในความเป็นจริง ไม่มีใครดีเลิศสมบูรณ์แบบ ถ้าเรามองไม่เห็นจุดอ่อนด้อยของ
เขาเลย นั่นแสดงว่า เรายังไม่รู้จักเขาอย่างแท้จริง หรือไม่ เราก็กำลังตกอยู่ในความ
หลงใหล ..จนไม่ลืมหูลืมตา

3. การแต่งงาน คือ การผูกพันกันด้วยหัวใจ ไม่ใช่เพียงร่างกายและยิ่งไม่ใช่การ
แลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงธุรกิจ

4. คนที่แต่งงานเพราะความเหงา จะยิ่งเหงาหนักเป็น 2 เท่า แต่งงานแบบ
คลุมถุงชน ก็มีแนวโน้มว่า ชีวิตจะมืดมนไปอีกนาน

5. ความสุข ความทุกข์ ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ชีวิตหลังแต่งงาน คิดให้ดีก่อนที่จะเลือก
ใครมาเป็นคู่ชีวิต...

6. บ้านจะเล็กหรือใหญ่ ไม่สำคัญ แต่ "ความรัก" ต้องใหญ่ที่สุดในบ้าน

7. คำว่า "รัก" พูดมากไป ย่อมดีกว่า พูดน้อยไป...

8. เมื่อเรา ทำผิด....จง "ขอโทษ" เมื่อเขา ทำผิด ....จง "ให้อภัย"

9. ชีวิตแต่งงาน คือ ชีวิตแห่งการปรับตัว ถ้าไม่คิดจะปรับตัวเข้าหาใคร
อยู่เป็นโสดไป ก็ดีกว่า...

10. ยอมเป็นผู้แพ้ ดีกว่า เป็นผู้ชนะที่ยืนอยู่ท่ามกลางซากชีวิตสมรสที่หักพัง...

11. "แก้ตัว" .... ช่วยอะไรไม่ได้ "แก้ไข".......ช่วยได้ทุกอย่าง...

12. เมื่อมีปัญหาในครอบครัว อย่าลืมใช้ความรักและหลักเหตุผลเป็นกรรมการ
ตัดสิน ไม่ใช้ อารมณ์ หรืออาวุธ..

13. งอนแต่พองาม...ก็งามดี แต่งอนเกินพอดี ก็เกินงาม...

14. ต่างคนต่างแข็ง ไม่มีใครยอมอ่อนข้อต่อกัน...บ้าน...ก็คงไม่ต่างอะไรกับสนามรบ

15. เมื่อสามีอ่อนแอ ไม่รับบทบาทผู้นำ ความสับสนวุ่นวาย ก็ตามมา หรือเมื่อภรรยา
พยายามแย่งบทบาทการนำจากสามี ชีวิตครอบครัวก็รอดยาก


16. ความไม่ซื่อสัตย์ ต่อกันเพียงครั้งเดียว ก็อาจสั่นคลอนความไว้วางใจที่มีให้กันได้
ท้ายที่สุด ชีวิตคู่ก็จบลงด้วยความแตกร้าว ยากเยียวยา

17. ความเห็นแก่ตัว สนใจแต่ปัญหา อารมณ์ ความรู้สึก และความสนใจของตัวเอง

ชีวิตคู่ ก็อยู่ด้วยกันยาก


18. ก่อหนี้สินจนล้นพ้นตัว ครอบครัวก็มีแต่ความตึงเครียดทุกเช้าเย็น

19. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเรียกร้องและคาดหวังจากกันและกันมาก
เกินพอดี ปัญหาก็จะมีเรื่อยไป…ไม่สิ้นสุด

20. ควรตระหนักว่า...ภรรยา ไม่ใช่ผู้ปรนนิบัติรับใช้สามี แท้จริงแล้ว สามีภรรยา
ควรเอาใจใส่ดูแลกันและกันอย่างดีที่สุด...ย่อมดีกว่า

21. ไม่มีอะไร ทำให้ภรรยาปวดร้าวใจ มากเท่าการค้นพบว่า สามีมีหญิงอื่นในหัวใจ

22. รักเดียว ...ใจเดียว ไม่ใช่เรื่องเชย แต่เป็นเรื่องดีที่สามีทุกคนในโลก
ควรกระทำ

23. การขอโทษภรรยาเมื่อทำผิด ไม่ใช่เรื่องเสียศักดิ์ศรี แต่เป็นศักดิ์ศรีของสามี...
ที่แท้จริง

24. ไม่ควรมองว่า งานดูแลบ้าน เป็นความรับผิดชอบของภรรยา สามีควรมีส่วนช่วย
แบ่งเบาภาระอย่างสุดความสามารถเสมอ

25. สรีระรูปร่างหน้าตา ที่เปลี่ยนไปของภรรยา ไม่ควรเป็นเหตุให้ความรักในหัวใจ
ของสามีจืดจางลงแม้แต่น้อย

26. ควรระลึกอยู่เสมอว่า ...การนำครอบครัวนั้น คือ การนำโดยเห็นผลประโยชน์
ของครอบครัวเป็นหลักไม่ใช่ เพื่อความสุข ความพึงพอใจของตนเอง


27. ภรรยาที่ดี ควรสนับสนุนสามีให้ก้าวไกลในชีวิต ไม่ใช่ดึงรั้งให้หยุดอยู่กับที่
หรือถอยหลัง

28. ภรรยาที่ดี ไม่ควรใช้วิธีการบับบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้สามีตัดสินใจ
ตามความคิดของตน


29. ในสถานการณ์หน้าสิ่ว หน้าขวาน สามีต้องการภรรยาที่สงบนิ่ง ช่วยกันคิดหา
ทางออก ไม่ใช่ภรรยาที่เอาแต่โวยวาย ตีโพย ตีพายหรือร้องไห้ฟูมฟาย โดยปล่อยให้
เขาต้องแบกภาระหนักอึ้งเพียงลำพัง

30. การไม่ตีลูก เพราะกลัวลูกเจ็บ เมื่อยังเป็นเด็ก กลับจะทำให้เขาเจ็บปวดยิ่งกว่า
เมื่อเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างปัญหา และถูกลงโทษ... จากสังคม


31. ช่องว่างระหว่างวัย...ระหว่างรุ่น...ย่อมไม่มี ถ้าพ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญ และ
ใช้ความพยายามที่มากพอ วิธีที่ดีที่สุด คือ พ่อแม่ควรวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจ
เกิดกับลูก ไม่ใช่ตามแก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว


32. พึงตระหนักว่า ลูกไม่ใช่ดินน้ำมัน ที่พ่อแม่ อยากจะปั้นให้เขาเป็นอะไรก็ได้
ตามใจชอบ เขาย่อมมีจิตใจที่มีเอกลักษณ์แห่งความชอบ ความสนใจที่แตกต่างไป
จากพ่อแม่ได้เสมอ

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติ





ชื่อสุนาพร นามสกุล ดวงใจ เกิดวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2521

นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู วิทยาลัยรัชภาคย์ จังหวัดชัยภูมิ